Thursday, September 29, 2005

แอ่วกาดนัดวัวควาย

“อ้ายๆ เอาบ๋อ คู่นี้ ซาวเอ็ด”เสียงพ่อค้าต่างถิ่นร้องบอกราคาวัวที่นำมาผูกไว้ขายที่ตลาดนัดวัว-ควาย อยู่กลางตัวเมืองจังหวัดพะเยา ท่ามกลางฝูงวัวด้านหน้าตลาดนับร้อยๆตัวอยู่อย่างระเกะระกะ บ้างก็นอน บ้างก็ลุกขึ้นยืนดูผู้คนมากมายที่ผ่านเข้าไปเบียดเสียดกับฝูงวัวเหล่านั้น บางทีก็โดนวัวเบียดกลับมาบ้าง

เช้าวันจันทร์ในเดือนกันยายนเป็นช่วงปลายฤดูฝนเหมาะแก่การเดินดูตลาดนัดวัวควาย ผมนัดกับ ”อ๊อด”ซึ่งเป็นลูกชายของ”พี่ลัมซา”ซึ่งเป็นมุสลิม พี่ลัมซาเลี้ยงวัวมาได้ 30 ปีแล้ว ชำนาญการเลี้ยงและการขายวัวทุกรูปแบบ ผมนับถือเป็นพี่ชายผมคนหนึ่ง พี่ลัมซานิสัยดีมากและเป็นคนกว้างขวาง

การนัดของเราครั้งนี้มีอันต้องล่าช้า เรานัดกันตี 4 ที่คอกวัวของพี่ลัมซา ผมตื่นมาตี4 ครึ่ง อย่างสะลึมสะลือ เมื่อรู้ตัวมองนาฬิกาก็รีบกระโจนออกจากเตียง ขับรถออกจากม.ราชภัฏเชียงราย(ผมมานอนหอพัก) รีบบึ่งรถด้วยความเร็วฝ่าความมืดออกไป กว่าจะถึงที่คอกวัวก็ตี 5 พอดี เห็นอ๊อดเดินออกมารออยู่หน้าคอกวัว ผมต้องขอโทษเป็นการใหญ่ เพราะผมตื่นตี 4 ครึ่งมา สองวันแล้วเพื่อไปดูตลาดนัดวัวต่างอำเภอในจังหวัดเชียงราย ซึ่งมักจะเริ่มในตอนเช้ามืด

ตลาดนัดที่ผมไปแทบทุกที่มักจะมีสภาพเป็นดินแดง บางที่ก็มีคอกกักสัตว์ทำด้วยไม้ยูคามาตีเป็นคอกสี่เหลี่ยมกว้างยาวพอกัน ประมาณด้านละ 4-5เมตร บางที่หากเป็นตลาดระดับอำเภอก็จะไม่มีคอกสัตว์ ใครพอใจมัดวัว มัดควายไว้ตรงไหนก็มัด หากหาไม่ได้จริงๆก็มัดติดกับรถที่ขนเจ้าพวกนี้มานั่นแหละ

รถทุกคันที่มาที่ตลาดนัดเพื่อนำวัวควายมาขายก็จะติดคอกที่กระบะหลังไว้ทุกคัน

สิ่งที่พ่อค้าต้องนำมาด้วยคือ เชือกสำหรับคล้องและจูงสัตว์ วัวบางตัวตื่นสถานที่ก็จะวิ่งหนีไปเรื่อย จึงต้องมัดไว้ตลอด แต่ส่วนใหญ่วัวควายที่มาที่ตลาดนัดก็จะร้อย”ดัง”มาแล้วเกือบทุกตัว การร้อยดังก็คือการนำเหล็กแหลมตรงปลายมีรูคล้ายเข็มหมุดสอดเชือก แทงลงไปที่ผนังกลางจมูก แล้วร้อยเชือกติดไว้ตลอด เพื่อบังคับพวกมันได้ง่าย เมื่อใดที่พวกมันแสดงอาการไม่เชื่อฟัง คนจูงก็จะจับบังคับเชือกที่ร้อยติดจมูกนั่นแหละ ดึงให้มันเจ็บ ทีนี้ก็จะเริ่มเชื่อฟังแล้ว ดึงซ้ายก็ไปซ้าย ดึงขวาก็ไปขวา โบราณเขาเปรียบเทียบว่า”โง่เหมือนควาย” คงเป็นเพราะการที่มันโง่ไม่เชื่อฟังคำสั่งแล้วทำให้ต้องเจ็บตัว เป็นวิธีที่ผู้ใหญ่ใช้สอนเด็กไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง จึงใช้ควายมาเปรียบเพราะเห็นได้ชัด

อ๊อดบอกผมว่าถ้าคิดจะศึกษาเรื่องวัว หรือการทำฟาร์มต้องมาดูสินค้าที่ตลาดบ่อยๆ จะทำให้เราไม่พลาดโอกาส หรือ โดนพ่อค้าหัวใสกดราคาขายเราได้ เพราะ ตามปกติราคาขายที่ฟาร์มมักจะโดนกดโดยพ่อค้าคนกลางอยู่เสมอ ซึ่งราคาขายวัวควายเฉลี่ยทั้งประเทศที่ภาคเหนือมีราคาต่ำที่สุด นอกจากเรื่องการขนส่งซึ่งอยู่ไกลตลาดกรุงเทพ แล้วยังมีปัจจัยเรื่องการเก็งกำไรจากพ่อค้าคนกลางอยู่มาก
ตลาดนัดพะเยานี้ใหญ่กว่าตลาดที่ผมไปมาเมื่อสองวันก่อนหน้า เพราะเป็นตลาดระดับภูมิภาค”ภาคเหนือตอนบน”
เมื่อหาที่จอดรถกระบะได้ข้างๆรถหกล้อขนวัว ก็รีบเสียบเข้าไปตรงที่เป็นเนินดินไม่แฉะมาก ซึ่งหาที่ที่ไม่แฉะแบบนี้ค่อนข้างยากในช่วงเวลาฟ้าหลังฝนอย่างนี้

เรารีบลงมาดูด้วยความตื่นเต้นว่า “วัวมากมายอะไรอย่างนี้” เฉพาะที่ผูกล่ามไว้ด้านหน้าเป็นวัวรูปเลี้ยงดูลานตาไปหมดไม่น่าจะต่ำกว่า 300 ตัว ยังมีด้านหลังสำหรับควายกับวัวตัดและตรงกลางที่เป็นคอกสัตว์อีกจำนวนมาก

ผมเล็งวัวลักษณะต่างๆ และจะประมาณราคาขายของผู้ขายไว้ในใจเสร็จแล้วก็ตรงเข้าไปถามราคาจากผู้ขาย ซึ่งมักจะได้คำตอบที่ผิดเพี้ยนจากที่คิดเสมอ บางทีก็สูงไป บางทีก็ต่ำไป

ในการซื้อขายวัว มักจะใช้ราคาอยู่สองแบบ คือ

แบบที่หนึ่ง เป็นวัวตัด(วัวเชือด) การซื้อขายแบบนี้ง่ายเพราะ เป็นการอ่านน้ำหนักจากตัววัวเป็นๆ ซึ่งพ่อค้าที่ชำนาญมักจะตีค่าน้ำหนักตัววัวออกมาค่อนข้างเที่ยง แล้วก็คูณราคาที่พ่อค้าจะซื้อ ซึ่งจะนำไปรวมกับค่ารถอีกทีว่าไปไกล้ไกลที่ไหน เมื่อหักราคาที่พ่อค้าขายได้ปลายทางก็จะทราบกำไรทันทีที่จบการต่อรอง ส่วนสถานที่ปลายทางก็แล้วว่าใครมีปัญญาขายได้แค่ไหน หากจะเข้าโรงเชือดที่กรุงเทพราคาเดือนนี้อยู่ที่ประมาณ 44 บาท/กก.วัวเป็น พี่ลัมซาบอกว่าการขายแบบนี้พ่อค้ามักจะซึ้อขายกันเน้นจำนวน มีกำไรต่อตัวเป็นเพียงหลักร้อย

แบบที่สอง เป็นการขายเป็นแม่พันธุ์ พ่อพันธุ์ แบบนี้ยาก เพราะอยู่ที่ความพอใจของผู้ซื้อผู้ขาย บางทีเราก็เห็นพ่อค้าขายได้แต่วัวแพงๆ ส่วนตัวถูกๆยังไม่ได้ขาย ทำให้ผมงงมากทั้งๆที่คิดอยู่ในใจว่าสินค้าใกล้เคียงกัน

ในการซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ นั้นต่างคนก็ต่างหลักการ นอกจากเหตุผลทางกายภาพ เช่น ลักษณะเนื้อดี โครงสร้างกระดูกดีแล้ว บางคนยังมีอุดมคติต่างๆนานา เช่น ต้องเป็นวัวสีแดงถึงจะดี (โคบาลภาคเหนือชอบสีแดง) จึงทำให้พ่อค้าภาคอีสานที่ขนวัวมาขายภาคเหนือมักจะคัดมาแต่สีแดง ส่วนสีอื่นๆ ไม่เข้าตาส่งโรงตัดที่อีสานไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้แล้วยังมีลักษณะที่ถือตามท้องถิ่นอีก เช่น ลักษณะขวัญที่ดีและไม่ดี ขนตาก็มีผลด้วย แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยถือกันมากนัก ซึ่งลักษณะต่างๆได้มาจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ตามท้องถิ่น หาอ่านตามตำราได้ยาก หากมีโอกาสจะรวบรวมข้อมูลด้านนี้ไว้

หากเป็นวัวแม่พันธุ์ต้องไม่แก่ไปนัก เพราะ หากให้ลูกมาหลายครั้งร่างกายจะโทรมไปมาก โดยธรรมชาติแล้วแม่วัวจะให้ลูกได้ถึง 12 ตัว แต่ในสภาพการเลี้ยงแบบชาวบ้าน ที่ผูกล่ามตามข้างถนน หาอาหารให้บ้างไม่ให้บ้าง มักจะโทรมเร็วกว่าวัวฟาร์มที่มีการบำรุงอย่างดี

แม่พันธุ์ที่ดีต้องเลี้ยงลูกเก่ง และให้ลูกวัวที่มีโครงสร้างดี ที่ตลาดจึงนิยมที่จะซื้อแม่-ลูกวัวไปพร้อมๆกัน เพราะมั่นใจเห็นของแล้วว่าเป็นอย่างไร และ แม่วัวให้ลูกได้ ไม่เกิดการแท้ง ซึ่งบางทีอาจจะเกิดจากการติดเชื้อบลูเซลโลซิส วัวที่ติดเชื้อนี้แล้วต้องคัดทิ้งอย่างเดียวเพราะมีโอกาสที่จะผสมไม่ติด หรือ แท้งลูกไปเสมอ และสามารถติดต่อโดยการผสมพันธุ์ หากติดต่อพ่อพันธุ์ของฟาร์ม นั่นหมายถึง หายนะทีเดียว เพราะ พ่อพันธุ์เป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากในการประกอบกิจการฟาร์ม

ราคาของแม่พันธุ์มักจะสูงกว่าราคาวัวตัด ประมาณ 1.5-2เท่า เมื่อเทียบโดยน้ำหนัก ยิ่งแม่พันธุ์มีลักษณะดี สูงใหญ่มากเท่าใด ราคาก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย

การขายพ่อพันธุ์นี่เรียกว่าเป็นที่สุดแห่งที่สุดของการเก็งกำไร ในวงการนี้เลยทีเดียว ซึ่งราคาจะเริ่มต้นที่ หมื่นนิดๆ ไปจนหลักล้าน ส่วนตลาดท้องถิ่นอย่างนี้จะขายได้สูงสุดก็ประมาณแสนบาท เรียกว่าสูงมากแล้ว ในการดูพ่อพันธุ์เรียกว่าดูกันตั้งแต่หัวจรดหาง แทบจะส่องกันทุกรายละเอียด การขายนี้มีทั้งคนหลอกคน วัวหลอกคนมานักต่อนักแล้ว

เดินดูได้สักพักประมาณ 8 โมงแล้ว ยังมีรถพ่อค้าเข้าตลาดไม่ขาดสายทำให้บริเวณที่แน่นขนัดอยู่แล้วยิ่งแน่นเข้าไปอีก โดยเฉพาะรถพ่อค้าที่มาหาซื้อวัวไปขุนจากอุดรพากันมาเกือบสิบลำรถหกล้อเหมาวัวไปเป็นร้อยตัว

คนเยอะเข้าชักจะเบื่อคนมากกว่าเบื่อวัว เลยเข้าไปนั่งซดกาแฟที่โต๊ะออกตั๋วซื้อขายวัว ถือโอกาสเช็ค ข้อมูลการซื้อขายไปในตัว

ฝ่ายออกตั๋วใช้พนักงาน 3 คน ออกตั๋วสำหรับยืนยันการซื้อขายวัวควาย คิดค่าบริการตัวละ 20 บาท เป็นข้อมูลบัตรประชาชนของคนซื้อและคนขาย หากจะขนย้ายในจังหวัดไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมจากปศุสัตว์ หากจะขนย้ายไปไกลต้องให้ปศุสัตว์จังหวัดมาทำเบอร์ และรับรองการเคลื่อนย้ายซึ่งมีค่าใช้จ่ายอีก

การซื้อขายวัวควาย การได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่ที่การอ่านน้ำหนักด้วยสายตา ใครอ่านได้เที่ยงตรงกว่าก็มีสิทธิ์ที่จะเดาราคาที่ถูกต้องได้มาก รวมทั้งการดูโครงสร้างของวัวกรณีนำไปขุน หรือเลี้ยงทำพันธุ์ในฟาร์ม
ส่วนใหญ่พ่อค้าด้วยกันจะรู้ทันกันและไม่เสียเปรียบได้เปรียบกันมากนัก ต่างคนต่างรู้ไต๋กันอยู่

ในตลาดนัดนี้มีการเก็งกำไรกันอย่างสนุก อย่างเช่น เราไปซื้อแต่เช้า ตกลงซื้อสินค้ากับผู้ค้าติดมัดจำไว้ก่อน เต่อมามื่อมีคนเข้าตลาดก็เสนอขายผู้อื่นได้สูงกว่าที่เราซื้อ ส่วนมากจะได้กำไรระหว่าง 500- 1,000 บาท/ตัว เราก็จะได้กำไรทันทีโดยที่ไม่ต้องมีสินค้า อย่างนี้เรียก “จับเสือมือเปล่า”เมื่อได้ยินว่าใครทำได้ผมจะเข้าไปดูทันที

คิดๆดูแล้วตลาดนัดวัวควายนี้ นับว่าเป็นตลาดทุนของชาวบ้านและพ่อค้าวัวจริงๆ อาจมีส่วนคล้ายเปรียบเหมือนตลาดหุ้นของคนรวยบ้าง แต่ชาวบ้านเขาเก็งกำไรบนพื้นฐานของสิ่งที่มีอยู่จริงจับต้องได้ อย่างน้อยเงินเขาก็เปลี่ยนเป็นสิ่งที่นำไปทำอาหารได้ และเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสังคมของการแลกเปลี่ยนมีการพบปะตัวตนกันจริงๆมีเสียงหัวเราะและการแสดงไมตรีจิตกัน นับว่าเป็นสังคมรูปแบบหนึ่งของชาวบ้านผู้ค้าวัว

ในตลาดนี้มีการซื้อขายกันอย่างเสรี พอใจซื้อก็ซื้อ พอใจขายก็ขาย มีตัวเลือกมากมาย หรือจะไปแลกเปลี่ยนสัตว์กันก็ได้แล้วแต่ความพอใจ รวมทั้งมีการเก็งกำไรที่น่าสนุก บางคนก็นำวัวจากแดนไกลมาแร่ขาย
ในช่วงนี้ภาคเหนือฮิตกันเหลือเกินกับพันธุ์ อินดู-บราซิน วัวพันธุ์ประดับ จะเนื้อก็ไม่ได้ จะนมก็ไม่ใช่ มีดีที่หูยาว หน้าสวย เหมาะแก่การเป็นของประดับเหลือเกิน เมื่อดูแล้วผู้ชำนาญการบอกว่าพวกนี้เป็นเศษวัวที่พ่อค้าแดนไกลเสียดาย เขาเก็บลูกดีๆไปหมดแล้ว ที่เหลือก็ไม่ยากเข้าโรงตัดทั้งที่จริงแล้วสมควรเข้า เพราะไม่เหมาะทำพันธุ์แล้ว จะเพราะอะไรนั้นผมไม่ทราบเพราะยังดูวัวไม่ค่อยเป็น

“พี่อามีน”พี่ชาวอิสรามอีกคนเคยบอกผมว่าหากดูวัวเป็นวัวแล้ว ไม่ต้องคิดมาทำวัว เพราะเวลาดู เราต้องสังเกตได้ว่าวัวตัวนี้เป็นพันธุ์อะไร มีโครงสร้างหรือไม่ อายุเท่าไหร่ หากจะเลี้ยงต่อไปจะทำนายลักษณะตอนโตว่าเป็นอย่างไร ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลที่สำคัญในการคัดเลือกวัวเข้ามาในฝูงปศุสัตว์ของเรา เพราะหากเรายังคงมอง”วัวเป็นวัว”อยู่โดยไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริง เราก็จะกลายเป็นวัวหันเสียเอง

แดดคล้อยลงมาเกือบกลางกระหม่อม ผมจึงชวนอ๊อดกลับเชียงรายเพราะอากาศร้อนแล้ว ชักจะดูวัวไม่สนุก อันที่จริงการซื้อขายยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ทำให้ผมตั้งใจไว้ว่าจะกลับมาอีกในไม่ช้านี้

3 Comments:

At 3:03 PM, Blogger Benz said...

เฮ้กิ๊ก
เอโปรเขียนเรื่องนี้ได้ดีจัง เหมือนอ่านสารคดีเลย ฝากบอกชมเอโปรให้ด้วย บอกว่าจะติดตามอ่านเรื่อยๆ ขอให้ขยันเขียนเล่าประสบการณ์ชีวิตจริงแบบนี้มาให้ได้อ่านบ่อยๆ ก็แล้วกัน :)
เบ็นซ์

 
At 1:39 PM, Blogger sweetnefertari said...

เอ..ที่เชียงแสนนี่มีสหกรณ์โคแบบที่มวกเหล็กมั๊ย ไม่มีอะไรหรอก แค่อยากรู้ แต่ถ้ามีจะดีมาก

PS.
สู้ต่อไปนะไอ้น้อง...

จะขอเอาใจช่วยอย่างแรงๆเลย

 
At 4:38 AM, Blogger crazycloud said...

ซาหนุกดี มันดี ได้บรรยากาศ เสเพลบอยชาวไร่

 

Post a Comment

<< Home